Healthspan VS Lifespan แนวคิดอายุยืนในมุมมองใหม่
ภาพจำของคนสูงวัยส่วนใหญ่มักเป็นภาพความชรา และความเจ็บป่วย แต่เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไป ปัจจุบันโลกของเรามีแนวทางการใช้ชีวิตที่จะสร้างการแก่ชราอย่างสุขภาพดี
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพช่วยให้มนุษย์อายุยืนยาวขึ้น แม้อายุที่ยืนยาวอาจฟังดูเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่น่าสนใจท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอายุขัยนี้ คือ สุขภาพและคุณภาพของอายุที่ยืนยาวขึ้น
ภาพจำของคนสูงวัยส่วนใหญ่มักเป็นภาพความถดถอยของร่างกาย ความชรา และความเจ็บป่วย แต่เรื่องนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป ปัจจุบันโลกของเรามีแนวคิดหรือแนวทางการใช้ชีวิตที่จะสร้าง Healthy Aging หรือการแก่ชราอย่างสุขภาพดี และหนึ่งในแนวคิดนั้น คือ Healthspan และ Lifespan
Healthspan VS Lifespan
Lifespan คืออะไร ?
Lifespan หมายถึงระยะเวลาทั้งหมดที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเสียชีวิต ตามการศึกษาของ World Health Organization (WHO) พบว่าค่าเฉลี่ยอายุขัยของมนุษย์ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นมาเป็น 73.3 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง 20 ปีหลัง
Healthspan คืออะไร ?
Healthspan คือช่วงเวลาที่เรามีสุขภาพดี สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและเต็มที่ โดยไม่มีโรคเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันคนหันมาให้ความสำคัญกับ Healthspan มากขึ้น เพราะสะท้อนถึงคุณภาพของการมีชีวิตอยู่ได้ชัดเจนกว่า
ทำไมต้องให้ความสำคัญกับ Healthspan
ข้อมูลจาก World Economic Forum ชี้ว่าในปี 2050 สัดส่วนของประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือราว 2.1 พันล้านคนทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของ Lifespan โดยไม่คำนึงถึง Healthspan อาจนำไปสู่ภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตที่ลดลงในวัยสูงอายุ และผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสังคมจากการแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลคนสูงวัย
ลองสมมติว่ามีคน 2 คน ที่จะสามารถอธิบายความแตกต่างของ Lifespan และ Healthspan ได้แบบเห็นภาพมากขึ้น
คุณ A ตัวแทนของคนที่มี Lifespan สูง, Healthspan ต่ำ
- อายุ 85 ปี (Lifespan)
- เริ่มมีปัญหาสุขภาพตั้งแต่อายุ 60 ปี (Healthspan)
- ใช้ยาและเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง
- ไม่สามารถทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้
คุณ B ตัวแทนของคนที่มี Lifespan และ Healthspan สอดคล้องกัน
- อายุ 85 ปี (Lifespan)
- มีสุขภาพแข็งแรงจนถึงอายุ 80 ปี (Healthspan)
- สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ
- สามารถทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้
เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างคุณ A กับ คุณ B แม้ทั้งสองคนจะมีอายุขัยเฉลี่ยเท่ากัน โดยคุณ A จะมีคุณภาพชีวิตที่ลดลงเป็นเวลา 25 ปี เนื่องจากป่วยและต้องรักษาตัวตั้งแต่อายุ 60 ปี ส่วนคุณ B สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติจนกระทั่งอายุ 80 ปี ซึ่งมีช่วงเวลาของการเจ็บป่วยเพียง 5 ปีก่อนหมดอายุขัย
นอกจากเรื่องการใช้ชีวิตและสุขภาพแล้ว ภายใต้อายุขัยสุขภาพหรือ Healthspan ที่ต่ำนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ข้อจำกัดในการทำงาน หรืออาจส่งผลต่อคนในครอบครัวที่ต้องดูแลอยู่เสมอ
Compression of Comorbidity เป็นแนวคิดที่เสนอโดย Dr. James Fries จากมหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ว่าด้วยเรื่องการลดระยะเวลาระหว่างการเริ่มมีปัญหาสุขภาพจนถึงการเสียชีวิต การรักษา Healthspan ให้ยาวนานสามารถ “บีบอัด” ช่วงเวลาของการเจ็บป่วยให้สั้นลงได้ คงไม่มีใครบนโลกที่อยากเจ็บป่วยในช่วงวัยที่อ่อนไหวที่สุด
การให้ความสำคัญกับ Healthspan ควบคู่ไปกับ Lifespan เป็นกุญแจสำคัญสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ การเข้าใจและนำแนวคิดนี้ไปปฏิบัติจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างชีวิตที่ยืนยาวและสุขภาพดีได้
มาเรียนรู้วิธีการสร้าง Healthspan ให้ยาวไปพร้อมกับ Lifespan บนวิถีอายุยืนอย่างมีคุณภาพ รายละเอียดเพิ่มเติม https://club100.bt.th/
– Club 100 โปรเจกต์ Exclusive Health Workshop ที่จะพาคุณเข้าสู่ 3 วันของการรวมศาสตร์แห่งการมีอายุยืน ผสานสุขภาพกาย-ใจ-สังคม –